เทศบาลตำบลก้านเหลือง    อำเภอแวงน้อย   จังหวัดขอนแก่น
KANLUANG SUBDISTRICT MUNICIPALITY
เทศบาลตำบลก้านเหลือง ยินดีให้บริการ KANLUANG SUBDISTRICT MUNICIPALITY
มุมสุขภาพ
โรคฉี่หนู โรคอันตรายที่มาพร้อมหน้าฝน

โรคฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีรูปร่างคล้ายเกลียวสว่าน เชื้อเหล่านี้สามารถอาศัยอยู่กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดโดยเฉพาะพวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู แต่สัตว์อื่น เช่น วัว ควาย และหมู ก็เป็นแหล่งเก็บเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้ เชื้อสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อม ดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก แม่น้ำลำคลอง เป็นต้น และอยู่ได้นานเป็นเดือน ถ้าปัจจัยแวดล้อมเหมาะสม

ในธรรมชาติจะพบเชื้อในน้ำ ดินหรือทรายที่เปียกชื้น หรืออาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ ผู้ป่วยมักจะมีประวัติการย่ำน้ำแฉะๆ ในบริเวณที่มีสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคอยู่ก่อน เช่นในไร่นา ในตลาดสดที่มีหนู เป็นต้น จากแผนภูมิจะเห็นว่า โรคนี้พบมากในฤดูฝน เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยโดยเข้าไปทางรอยแตกหรือแผลเล็ก ๆ บนผิวหนัง ผิวหนังที่เปื่อยเนื่องจากแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ และเยื่อบุที่อ่อนนุ่ม เช่น ตา จมูก ปาก เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 5ถึง 14วัน แต่โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 10วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 38 C-40 C หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดน่อง ตาแดง ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ร้อยละ90 ของผู้ป่วยอาจจะมีอาการดีขึ้นได้เอง
เนื่องจากเชื้อสามารถกระจายไปทั่วร่างกาย จึงมีภาวะแทรกซ้อนได้หลากหลายมาก ที่พบบ่อยและสำคัญคือภาวะไตวาย การทำงานของตับล้มเหลว ปอดอักเสบและมีเลือดออกในปอด ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย จะไม่สามารถขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายได้เป็นผลให้ระบบการทำงานของอวัยวะอื่นล้มเหลวตามมา ความผิดปกติของการทำงานของตับ แสดงให้เห็นได้โดยการที่ผู้ป่วยมีอาการตาเหลือง การอักเสบที่ปอด ทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว และอาจมีอาการไอเป็นเลือด ถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้เสียชีวิตได้
ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว การให้ยาเพนิซิลลินหรือด๊อกซี่ซัยคลิน จะช่วยให้ผู้ป่วยหายได้เร็วขึ้น แต่ถ้ามาช้าการให้ยาปฏิชีวนะอาจมีประโยชน์
ไม่มากนัก

นอกจากการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแล้ว ยังจะต้องให้การรักษาประคับประคองระบบการทำงานของอวัยวะที่ล้มเหลว จนกว่าระบบต่าง ๆ เหล่านั้น จะฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งจะใช้เวลามากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรค ได้แก่ เกษตรกร คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ คนงานเหมืองแร่ คนงานโรงฆ่าสัตว์ และสัตวแพทย์ โรคนี้จัดเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่ไม่พบการติดต่อจากคนสู่คน แม้ว่าเชื้ออาจจะอยู่ในปัสสาวะของผู้ป่วยบางรายได้นานเป็นเดือนก็ตาม เมื่อหายจากโรคแล้ว อาจเป็นได้อีก หากได้รับเชื้อต่างสายพันธุ์จากเดิม

กรมควบคุมโรค ได้ให้คำแนะนำการป้องกันโรคไว้ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์นำโรค หรือถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต
2. ป้องกันโรคแก่ผู้ที่ทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ใช้ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ต ฯลฯ
3. ตรวจแหล่งน้ำ ดินทรายที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ถ้าเป็นน้ำในท่อระบายน้ำ ควรล้างระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกไป
4. ถ้าพบสัตว์ติดเชื้อต้องแยกออกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่น ๆ หรือเกิดการปนเปื้อนเชื้อบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว ฯลฯ
5. ควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัยของคน โดยเฉพาะในเขตชนบทและบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว ฯลฯ
ที่สำคัญหากมีอาการไข้ โดยไม่มีอาการชี้ชัดเจนว่าเป็นโรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด และเคยไปสัมผัสน้ำในช่วงระยะเวลาเกิน 1เดือน ก่อนที่จะมีอาการควรไปรับการตรวจเพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ควรวินิจฉัยและรักษาเอง เพราะโรคบางอย่างอาจมีอาการคล้ายกัน ระบาดในช่วงเดียวกัน และมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน

ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล   

สอบถาม